24/10/56

อาหารเป็นยา "เห็ดต้านโรคร้าย"

       เห็ดมีมากมายหลายชนิดทั้งที่กินได้และกินไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเห็ดที่กินได้ เห็ดมีสารอาหารโปรตีนสูง รวมทั้งแร่ธาตุต่างๆที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก, ฟอสฟอรัส, แคลเซียม โดยเฉพาะมีเกลือแร่ เช่น ซิลิเนียม ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
       
       นอกจากนี้ เห็ดยังอุดมไปด้วยวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบีรวม (ไรโบฟลาวิน) และไนอาซิน ซึ่งจะช่วยควบคุมการทำงานของระบบย่อยอาหาร
       
       ที่สำคัญเห็ดมีคุณค่าทางอาหารที่สามารถทดแทนเนื้อสัตว์ได้ แต่ไม่มีโคเลสเตอรอลที่เป็นอันตรายต่อระบบไหลเวียนของโลหิต เห็ดจึงมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีสรรพคุณทางยามากมาย ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย และช่วยลดอัตราความเสี่ยงจากโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน อัลไซเมอร์ หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และความดันโลหิตสูง เป็นต้น
       
       มาดูกันว่า เห็ดที่หาได้ง่ายและคนทั่วไปนิยมรับประทานกันนั้น มีประโยชน์อะไรบ้าง






      
       1. เห็ดเข็มทอง
       

เห็ดเข็มทอง (Flammulina velutipes (Curt:Fr.) Singer) มีชื่อสามัญว่า Enokitake หรือ The Golden Mushroom สามารถขึ้นได้ในสภาพที่เย็นจัด สามารถทนอยู่ในสภาพที่เป็นน้ำแข็งจนน้ำแข็งละลาย จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า The Winter Mushroom ปกติจะมีดอกขนาดเล็ก และสั้น แต่ที่วางขายในตลาดทั่วไปจะมีดอกเล็ก ลำต้นยาวเป็นกระจุกผิดไปจากที่พบเห็นในธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ปริมาณและน้ำหนักที่ดี และสะดวกในการบรรจุจำหน่าย เป็นเห็ดที่มีการพัฒนามานานมาก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น มีการวิจัย พัฒนาสายพันธุ์และวิธีการเพาะเห็ดชนิดนี้อย่างกว้างขวาง จึงเป็นผู้ผลิตเห็ดเข็มทองรายใหญ่สุดของโลก เห็ดชนิดนี้สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายประเภท อาทิ สุกี้


วิธีการเพาะเห็ดเข็มทอง
          เห็ดเข็มทอง เป็นพวกย่อยสลายเนื้อไม้ ชอบขึ้นบนตอไม้ วัสดุที่ใช้เพาะจึงเป็นขี้เลื่อย หรือซังข้าวโพดบดละเอียดผสมอาหารเสริม ได้แก่ รำข้าวละเอียด pH ให้อยู่ระหว่าง 6.0-7.5 ความชื้น 60-65% บรรจุในขวดพลาสติกทนร้อน อบฆ่าเชื้อที่ 121°C เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ทิ้งไว้ให้เย็น ใส่เชื้อเห็ดเลี้ยงไว้ในห้องอุณหภูมิ 18-22°C ประมาณ 1 เดือน พอเชื้อเจริญเต็มขวด นำไปเข้าห้องเปิดดอกที่อุณหภูมิ 10-15 °C ความชื้น 85-95% เมื่อดอกเห็ดเจริญสูงกว่าปากขวด 2-3 ซม. ให้ใช้กระดาษสะอาดหรือแผ่นพลาสติกหุ้มรอบปากขวด เพื่อช่วยบังคับให้ดอกเห็ดเจริญเติบโตในแนวสูง และเป็นกลุ่มก้อนง่ายต่อการเก็บดอกและคัดบรรจุ

คุณค่าทางโภชนาการ

          โปรตีน 25%, ไขมัน 1%, แป้ง 53%, เยื่อใย 12%, เถ้า 8%, วิตามินบี 1, วิตามินบี, วิตามินซี และ arginine

          เห็ดเข็มทอง 100 กรัม ให้พลังงาน 34 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย โปรตีน 2.4 กรัม โซเดียม 3 มิลลิกรัม คาร์โบไฮเดรต 7 กรัม เส้นใย 2.6 กรัม
       
สรรพคุณทางยา
          ถ้ารับประทานเป็นประจำจะช่วยรักษาโรคตับ กระเพาะและลำไส้อักเสบเรื้อรัง เห็ดเข็มทองมีสาร flammulin สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง(Ehrlich) และเซลล์มะเร็ง Sarcoma 180 ในหนูขาว ได้ผลถึง 81.1-100% และมีคุณสมบัติในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของสิ่งมีชีวิต
      




       
       2. เห็ดฟาง ( อาหารสุขภาพของคน ความดันสูง)

       
เห็ดฟางเป็นเห็ดยอดนิยมของคนไทย นิยมเพาะกันบนกองฟางข้าวชื้นๆ โคนมีสีขาว ส่วนหมวกสีน้ำตาลอมเทา หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดตลอดทั้งปีเดิมคนไทยเรียกเห็ดฟางว่า เห็ดบัว เพราะมีเกิดขึ้นได้เองในกองเปลือกเมล็ดบัวที่กะเทาะเมล็ดภายในออกแล้ว ต่อมาเมื่อมีการส่งเสริมให้ใช้ฟางเพาะจึงนิยม เรียกว่า เห็ดฟาง มีชื่อสามัญว่า  Straw Mushroom ชื่อวิทยาศาสตร์ Volvariella vovacea(Bull. Ex.Fr.) Sing    
ภาคอีสานเรียกว่า เห็ดเฟียง มีถิ่นกำเนิด ในประเทศจีน

        เห็ดฟางเป็นเห็ดที่ขึ้นตามกองฟาง ดอกตูมมีลักษณะเป็นก้อนกลมสีขาว มีเยื่อหุ้มกระเปาะคล้ายถ้วย รองรับ ฐานเห็ดเรียกว่า ผ้าอ้อมเห็ด เมื่อหมวกเห็ดเจริญเติบโตเต็มที่จะกางออก คล้ายร่ม ด้านบนของหมวกเห็ดจะสีเทาอ่อน หรือเทาเข้ม ผิวเรียบและอาจมีขนละเอียดคลุมอยู่บางๆคล้ายเส้นไหม ด้านล่างมีครีบดอกบางๆ ก้านดอกสีขาว เนื้อในแน่น ละเอียด

       เห็ดฟาง 100 กรัม จะให้พลังงานทั้งหมด 35 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย โปรตีน 3.2 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 5 กรัม แคลเซียม 8 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 18 มิลลิกรัม เหล็ก 1.1 มิลลิกรัมและวิตามินซี 7 มิลลิกรัม
       
       เห็ดฟางมีสาร vovatoxins ช่วยป้องกันการเติบโตของไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ ช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับไขมันในเส้นเลือดหรือโรคหัวใจได้
       



เห็ดหูหนูขาว

เห็ดหูหนูดำ

       3. เห็ดหูหนู สุดยอดของเห็ด
       
ห็ดหูหนูเป็นเห็ดที่หาง่าย ราคาไม่แพง มีการบริโภคอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เฉพาะอาหารจีนเท่านั้น ปัจจุบันเป็นอาหารทั่วไป เช่น ผัดเนื้อไก่ใส่ขิงใส่เห็ดหูหนู ยำเห็ดหูหนู แกงจืดเห็ดหูหนู เป็นต้น เรียกว่า เป็นอาหารที่คุ้นเคยสำหรับคนไทย
เห็ดหูหนูมีอยู่ 2 ชนิด
1. เห็ดหูหนูขาว
2. เห็ดหูหนูดำ
เห็ดหูหนูขาว

ได้ถูกยกย่องเป็น สุดยอดของเห็ด สมัยก่อนเป็นเห็ดที่พบได้น้อยตามธรรมชาติ ราคาแพง เป็นอาหารบำรุงสำหรับคนที่มีฐานะร่ำรวย แต่ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยง ทำให้ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย 
ในสมัยปลายราชวงศ์ชิง มีการระบาดของวัณโรค ผู้ป่วยมักมีอาการไข้หลังเที่ยงวัน ไอแห้งๆ มีเสมหะปนเลือด มีการใช้เห็ดหูหนูขาวบำรุงรักษา เสริมกับยา ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น การศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่า เห็ดหูหนูขาว มีส่วนประกอบของโปรตีน ไขมัน น้ำตาล ไฟเบอร์ กรดอะมิโน วิตามิน และสารจำเป็นต่างๆ รวมทั้งน้ำมันยางอย่างอุดมสมบูรณ์
สรรพคุณที่สำคัญ คือ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ เสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้การไหลเวียนเลือดของหัวใจดีขึ้น (ลดอาการหลอดเลือดหัวใจขาด ตีบ) มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดอาการแทรกซ้อน ภายหลังการฉายแสงรักษาโรคมะเร็ง
สรรพคุณทางยาจีน เสริมบำรุงสารน้ำของปอด บำรุงไต ทำให้เกิดสารน้ำ หยุดไอ (ไอที่เกิดจากปอดแห้ง ไอแห้งๆ มีเลือดปน) บำรุงพลัง บำรุงหัวใจ บำรุงสมอง มีฤทธิ์สงบประสาท ช่วยให้นอนหลับ

การประยุกต์ใช้ทางคลินิก
เนื่องจากเห็ดหูหนูขาวมีคุณสมบัติทางยา ไม่ร้อน ไม่เย็น มีรสหวาน จึงมีคุณสมบัติบำรุง เสริมธาตุน้ำ และวิ่งเส้นลมปราณปอด (สีขาวเป็นสีของปอด) มักใช้บำรุงร่างกาย คนสูงอายุ ที่มีอาการป่วยไข้เรื้อรัง ทำให้พลังและยินพร่อง ใจสั่น นอนไม่หลับ ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค ไอแห้งๆ ไอมีเสมหะปนเลือด คนที่มีความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หรือมีภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองแตก หรือหลอดเลือดหัวใจตีบในเวลาต่อมา
เห็ดหูหนูดำ 
ได้ชื่อว่า “อาหารคาวของอาหารเจ” ในทางแพทย์จีน ถือว่าเป็นยาบำรุงเลือดและพลัง มีส่วนประกอบคล้ายกับเห็ดหูหนูขาว คุณสมบัติทางยา ไม่ร้อน ไม่เย็น รสหวาน วิ่งเส้นลม-ปราณไต (สีดำเป็นสีของไต) เป็นเห็ดที่ได้รับพลังหยินสะสม ทำให้ลดความร้อน หรือเกิดความเย็นแก่กระเพาะอาหารได้

การประยุกต์ใช้ทางคลินิก
มักนำมาเป็นอาหารสำหรับคนที่มีความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดแดงแข็งตัว นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในไต วัณโรค ไอแห้งๆ อุจจาระเป็นเลือด ป้องกันมะเร็ง ลดอาการแทรกซ้อนภายหลังจากการฉายรังสี 
การศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่า เห็ดหูหนูดำมีน้ำมันยางธรรมชาติและสารใยไฟเบอร์ ช่วยในการระบายขับของเสียในลำไส้ มีฤทธิ์การต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และคุณสมบัติการลดไขมันในเลือด ซึ่งเป็นอาหารที่ เหมาะกับคนสูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคหัวใจ 
เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เย็นกว่าเห็ดหูหนูขาว มีฤทธิ์ในการลดความร้อนของเลือด หยุดเลือด เช่น ประจำเดือนมากผิดปกติ ริดสีดวงทวาร อุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด (ซึ่งเกิดจากความร้อนของระบบเลือด) 
คนที่ภาวะร่างกาย เย็นเกินไป และมีอาการดังกล่าว ต้องพิจารณาเสริมบำรุงด้านอื่นประกอบ จึงไม่แนะนำให้กินเห็ดหูหนูในช่วงกลางคืน ขณะที่หยางร่างกายอ่อนลง และมีภาวะหยินของธรรมชาติมาก
ข้อสังเกต เห็ดหูหนูดำและขาวมีคุณสมบัติคล้ายกัน แต่การออกฤทธิ์ของเห็ดหูหนูขาวจะออกฤทธิ์ที่ปอดและกระเพาะอาหาร ส่วนเห็ดหูหนูดำจะออกฤทธิ์ที่ไตและตับ
เห็ดหูหนูนับเป็นอาหารสำหรับสุขภาพที่ดี ราคาถูก หาซื้อง่าย เป็น “สุดยอดของเห็ด” เพราะสอดคล้องกับ โรคยอดฮิตในปัจจุบัน คือ โรคหัวใจ โรค มะเร็ง โรคความดันเลือดสูง โรคไขมัน ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งเป็นสาเหตุ สำคัญของโรคอัมพฤกษ์อัมพาต 
ข้อควรระวัง อาหารเหล่านี้มีลักษณะทำให้เกิดความชุ่มชื้น ความเย็น คนที่ระบบการ ย่อยอาหาร หรือมีภาวะของร่างกายค่อนไปทางเย็นมากๆ ต้องมีอาหารหรือสมุนไพรที่มีคุณสมบัติร้อนประกอบด้วย และระมัดระวังไม่ควรกินมากในช่วงกลางคืน ควรกินในช่วงกลางวัน น่าจะเหมาะสมกว่า 
หลักการแพทย์ของจีนเน้นถึงสภาพอาหารที่เหมาะสม ควรพิจารณาองค์ประกอบ เงื่อนไขบุคคล เงื่อนไขเวลา และภูมิประเทศ (สถานที่) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง
  ตำรับอาหารอย่างง่าย 

         เห็ดหูหนูขาวตุ๋นน้ำตาลกรวด  : ใส่เห็ดหูหนูขาว ๑ ช่อ แช่น้ำจนพองตัว ล้างสะอาด เติมน้ำตาล 
         กรวดพอประมาณ ตุ๋นรวมกันด้วยไฟอ่อนๆ ๑ ชั่วโมง
        สรรพคุณ : วัณโรค ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดแข็งตัว บำรุงให้ผิวพรรณชุ่มชื้น สวยงาม

       โจ๊กเห็ดหูหนูดำ   : เห็ดหูหนูดำ ๑๐ กรัม แช่น้ำจนพอง ล้างให้สะอาด พุทราแดง ๕ ผล ข้าวสาร ๑ ช้อนโต๊ะ ใส่ต้มพร้อมกันในหม้อ ต้มจนละเอียด ค่อยเติมน้ำตาลกรวดพอประมาณ
สรรพคุณ : แก้เลือดจาง อ่อนเพลีย ไอเป็นเลือด หอบหืด ช่วยขับนิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในทางเดินกระเพาะปัสสาวะ

        ซุปเห็ดหูหนูขาว  : ใช้เห็ดหูหนูขาว ๑ ช่อ แช่น้ำจนพอง ล้างให้สะอาด เนื้อหมู ๒๐๐ กรัม ขิงสด ๓ แผ่น ใส่ในหม้อต้มรวมกันจนสุกดี เติมเกลือปริมาณเล็กน้อยเพื่อปรับรสชาติ
        สรรพคุณ : บำรุงเลือดพลังพร่อง เวียนศีรษะ หอบหืด อ่อนเพลีย เป็นอาหารบำรุงฟื้นฟูสุขภาพที่ดีตำรับหนึ่ง
           
       



      4. เห็ดเป๋าฮื้อ
       

      มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Abalone Mushroom ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pleurotus ostreatus (FR.) Guel   หรือ เห็ดหอยโข่งทะเล มีถิ่นกำเนิดใน ประเทศจีนและไต้หวัน  ปัจจุบันสามารถเพาะเห็ดเป๋าฮื้อได้แล้วทั่วทุกภาคของประเทศไทย ส่วนที่เกิดตามธรรมชาติจะขึ้นตามเปลือกไม้หรือขอนไม้ผุ
     ลักษณะทางพฤกษศาตร์: หมวกเห็ดมีสีครีมถึงสีเทาเข้ม ผิวดอกแห้งขอบหมวกม้วนงอลงเล็กน้อย ครีบใต้ดอกหมวกสีขาวถึงสีครีม บริเวณส่วนกลางดอกจะบุ๋มเล็กน้อย ก้านดอกมีขนาดใหญ่ อวบแน่นและติดกับขอบหมวกดอก ด้านใดด้านหนึ่ง
     คุณค่าทางโภชนาการ  เห็ดเป๋าฮื้อ 100 กรัม ให้พลังงาน 34 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย โปรตีน 1.6 กรัม ไขมัน 0.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม แคลเซียม 3 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 78 มิลลิกรัม เหล็ก 1.1 มิลลิกรัม ไนอะซิน 2.8 มิลลิกรัม วิตามินซี 11 มิลลิกรัม
    สรรพคุณของเห็ดเป๋าฮื้อ    มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย ป้องกันโรคหวัด ช่วยให้ระบบการไหลเวียนเลือดทำงานดีขึ้น แก้โรคกระเพาะ และป้องกันโรคมะเร็ง
       



เห็ดหอมสด

เห็ดหอมแห้ง
       5. เห็ดหอม

       เห็ดหอม (Shiitake Mushroom) เป็นเห็ดรูปร่างเหมือนเห็ดทั่วไป อยู่ในวงศ์ Tricholomataceae สปีชีส์ L. edodes ตัวดอกมีสัณฐานกลม หนา เป็นเห็ดที่ได้รับความนิมมานาน มีราคาค่อนข้างสูง สามารถปลูกได้ทั้งปี แต่จะได้ผลผลิตดีในฤดูหนา

คุณค่าทางอาหารของเห็ดหอม

เห็ดหอมสด 100 กรัม ให้พลังงาน 387 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย
คาร์โบไฮเดรต 67.5 กรัม โปรตีน 17.5 กรัม ไขมัน 8.0 กรัม เส้นใย 8.0 กรัม วิตามินบี1 1.8 มิลลิกรัม วิตามินบี2 4.9 มิลลิกรัม ไนอะซิน 4.9 มิลลิกรัม แคลเซียม 98 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 476 มิลลิกรัม เหล็ก 8.5 มิลลิกรัม

เห็ดหอมแห้ง 100 กรัม ให้พลังงาน 375 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย
คาร์โบไฮเดรต 82.3 กรัม โปรตีน 10.3 กรัม ไขมัน 1.9 กรัม เส้นใย 6.5 กรัม วิตามินบี1 0.4 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.9 มิลลิกรัม ไนอะซิน 11.9 มิลลิกรัม แคลเซียม 12 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 171 มิลลิกรัม เหล็ก 4.0 มิลลิกรัม


      
สรรพคุณของเห็ดหอม

       คนจีนใช้เห็ดหอมเป็นอายุวัฒนะรักษาหวัดทำให้เลือดลมดี แก้โรคหัวใจ ป้องกันการเติบโตของเนื้อร้าย ต้านพิษงู ป้องกันโรคเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคมะเร็ง โรคร้ายจากเชื้อไวรัส เห็ดหอมมีกรดอะมิโนชื่อ eritadenine ช่วยให้ไตย่อยโคเลสเตอรอลได้ดี มีสารเลนติแนน (Lentinan) ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเซลล์เนื้องอก  
และสาร “โพลิแซคคาร์ไรด์” ที่ช่วยในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต่อต้านแบคทีเรียและไวรัส

มีกรดอะมิโนถึง 21 ชนิด มีวิตามินบี 1 บี 2 สูง มีวิตามินดีสูงและมีปริมาณโซเดียมต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคไต รวมทั้งมีแร่ธาตุฟอสฟอรัส และเหล็กช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง 


     ประโยชน์ของเห็ดหอม

     บำรุงสมอง เพิ่มความสดชื่น คึกคัก ลดคอเลสเตอรอล ช่วยในระบบย่อยอาหาร ป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งตัว ต้านมะเร็ง รักษาหอบหืด ลดความเครียด ต้านไวรัส บำรุงระบบประสาท ช่วยให้หลับง่าย บำรุงปอด บำรุงหลอดลม ชะลอความชรา ฯลฯ ควรบำรุงสุขภาพด้วยการนำเห็ดหอมมาปรุงอาหารทุก ๆ สัปดาห์เป็นประจำ โดยนำมาปรุงเป็นอาหารจานผัด ๆ ต้ม ๆ แต่ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากจนเกินไป



      

       6. เห็ดเผาะ
เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ เห็ดเหียง เห็ดหนัง เห็ดดอกดิน ชื่อสามัญ Barometer Earthstars 
ชื่อวิทยาศาตร์ Astraeus hygrometricus(Pers.) Morgan มีถิ่นกำเนิด ในประเทศไทย
คุณค่าทางอาหาร เห็ดเผาะ 100 กรัม ให้พลังงาน 47 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย น้ำ 87.8 กรัม โปรตีน 2.2 กรัม ไขมัน 0.4  กรัม คาร์โบไฮเตรต 8.6 กรัม แคลเซียม 39 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 85 มิลลิกรัม เหล็ก 3.6 มิลลิกรัม ไทอะมีน 0.04 มิลลิกรัม ไนอะซีน 0.7 มิลลิกรัม วิตามินซี 12  มิลลิกรัม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เห็ดเผาะมีลักษณะเป็นลูกกลมๆ ขนาด 1.5-3.5 ซม. ไม่มีลำต้น ไม่มีราก ชอบขึ้นตามดินร่วนที่ถูกไฟไหม้ เห็ดอ่อนมีสีนวล เปลือกนอกกรอบ ห่อหุ้มสปอร์สีขาวนวล เห็ดแก่เปลือกสีน้ำตาล ถึงดำ สปอร์ข้างในเป็นสีดำ เมื่อแก่มากพื้นผิวจะขรุขรุ และแยกออกเป็นรูปดาวเห็นสปอร์ข้างใน  มีมากใน ต้นฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคม
แหล่งปลูก พบได้ตามป่าโปร่ง บริเวณพื้นดินใต้โคนต้นไม้ที่ถูกไฟเผา ในแถบบภาคเหนือและภาคอีสาน
สรรพคุณทางยา  ช่วยบำรุงร่างกาย แก้ช้ำใน หยุดการไหลของเลือด (ช่วยให้เลือดแข็งตัวเร็ว) ช่วยสมานแผล ลดอาการบวม ลดอาการคันนิ้วมือนิ้วเท้า และช่วยลดไข้ ร้อนใน
การกิน นิยมกินเห็ดระยะที่อ่อนอยู่ โดยนำไปแกงคั่ว และผัด หรือกินสดเป็นผักจิ้มน้ำพริก


7. เห็ดนางฟ้า
       เห็ดนางฟ้าภูฏาน หรือ เห็ดนางรมภูฏาน (อังกฤษ: Indian Oyster, Phoenix Mushroom, หรือ Lung Oyster) หรือ เห็ดแขก  เป็นเห็ดในตระกูลเห็ดนางรม รับประทานได้มีต้นกำเนิดในประเทศภูฏาน เกิดขึ้นบนต้นไม้เนื้ออ่อนที่ตายแล้ว เจริญเติบโตได้เร็วมาก ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย โดย อานนท์ เอื้อตระกูล ขณะที่ดำรงตำแน่งผู้เชี่ยวชาญเห็ดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ณ ประเทศภูฏาน  ชื่อสามัญ : Sarjor-caju Mushroom   ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pleurotus sajor-caju(Fr.) Sing.
มีถิ่นกำเนิด  บริเวณ แถบเทือกเขาหิมาลัย ประเทศอินเดีย
ลักษณะของดอกเห็ดนางฟ้า มีลักษณะคล้ายกับดอกเห็ดเป๋าฮื้อ และดอกเห็ดนางรม เมื่อเปรียบเทียบกับเห็ดเป๋าฮื้อ ดอกเห็ดนางฟ้าสีจะอ่อนกว่า และมีครีบอยู่ชิดกันมากกว่า เห็ดนางฟ้าสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นนานได้หลายวัน เช่นเดียวกับเห็ดเป๋าฮื้อ เนื่องจากเห็ดชนิดนี้ไม่มีการย่อตัวเหมือนกับเห็ดนางรม ด้านบนของดอกจะมีสีนวลๆ ถึงสีน้ำตาลอ่อน ในอินเดียดอกเห็ดมีขนาดตั้งแต่ 5 – 14 เซนติเมตร และจะมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 30 – 120 กรัม เห็ดนางฟ้ามีรสอร่อย เวลานำไปปรุงอาหารจะมีกลิ่นชวนรับประทาน เห็ดชนิดนี้สามารถนำไปตากแห้ง เก็บไว้เป็นอาหารได้ เมื่อจะนำเห็ดมาปรุงอาหาร ก็นำไปแช่น้ำเห็ดจะคืนรูปเดิมได้
คุณค่าทางอาหาร   เห็ดนางฟ้า 100 กรัม จะให้พลังงานทั้งหมด 35 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย โปรตีน 2.3 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 5.7 กรัม และไนอะซิน 2.5 มิลลิกรัม
       
สรรพคุณทางยา  ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี ลดความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคกระเพาะ





      
       8. เห็ดนางรม

           เป็นเห็ดที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางถิ่นประเทศแถบยุโรป  เห็ดพวกนี้เจริญเติบโตได้ดีในพวกไม้โอ๊ค  (oak)  ไม้เมเปิ้ล  (maple)  ไม้พืช  (peach)  ฯลฯ  และสามารถเจริญเติบโตได้ทั่วไปในเขตอบอุ่น  ต่อมาได้มีการนำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยงในประเทศไทย    พบว่าเห็ดชนิดนี้สามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย  จึงได้มีการเผยแพร่วิธีการเพาะเห็ดชนิดนี้  จนเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วๆ ไป  เห็ดนางรมจัดเป็นเห็ดที่ประชาชนนิยมรับประทานกันมาก  ทั้งนี้  เนื่องจากเห็ดนางรมมีลักษณะคล้ายเห็ดมะม่วงหรือเห็ดขอนขาวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติบนตอไม้ที่ผุพัง

          ประกอบกับเห็ดเนางรมเป็นเห็ดทึ่มีสีขาวสะอาด  มีคุณค่าทางอาหารสูง  และมีรสชาติหอมหวาน  นอกจากนี้เนื้อของเห็ดนางรมยังไม่เหนียวมากเหมือนเห็ดมะม่วงหรือเห็ดขอนขาว  และที่สำคัญก็คือ  เห็ดนางรมมีสารบางอย่างที่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคไม่แพ้เห็ดชนิดอื่นๆ  จึงทำให้ประชาชนรู้จักเห็ดชนิดนี้เป็นอย่างดี  

          เห็ดนางรม หรือ Oyster  mushroom จัดเป็นเห็ดที่มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะ โปรตีน  คาร์โบไฮเดรต  วิตามิน  ไม่แพ้เห็ดชนิดอื่นๆ  นอกจากนี้เห็ดนางรมยังให้ปริมาณแร่ธาตุหลายชนิด เช่น แคลเซียม  ฟอสฟอรัส  โปแตสเซี่ยม  และยังให้พลังงานค่อนข้างสูง  เห็ดนางรม มีวิตามินบี 1  วิตามินบี 2  สูงกว่าเห็ดชนิดอื่นๆ  และยังมีกรดโฟลิคสูงกว่าพืชผักและเนื้อสัตว์  กรดพวกนี้ช่วยป้องกันรักษาโรคโลหิตจางได้จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  และยังเหมาะต่อผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักเพราะเห็ดมีปริมาณของไขมันน้อยและมีปริมาณโซเดียมต่ำจึงเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจและโรคไตอักเสบ  ประกอบกับเห็ดนางรมที่เพาะง่าย  สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย  จึงได้มีการเพาะเห็ดนี้กันอย่างแพร่หลายโดยทั่วไป


 เห็ดนางรมที่นิยมเพาะโดยทั่วไปแบ่งตามสีมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่
            
            1. เห็ดนางรมสีขาว (White type หรือ Florida type)
เจริญเติบโตได้ในสภาพอุณหภูมิสูง จึงนำมาเพาะเลี้ยงในช่วงฤดูร้อน เห็ดชนิดนี้จะออกดอก
ได้ดีที่อุณหภูมิสูงกว่า 20 ๐ซ. หมวกดอกมีสีขาว และมีน้ำหนักมากกว่าเห็ดนางรมสีเทา แต่หมวกดอก
จะมีขนาดเล็กและบางกว่านางรมสีเทา

                
            2. เห็ดนางรมสีเทา (Grey type หรือ Winter type)
เจริญได้ดีในสภาพอุณหภูมิต่ำ จึงเพาะเลี้ยงในช่วงฤดูหนาว เห็ดจะออกดอกได้ดีที่อุณหภูมิต่ำ
กว่า 20 ๐ซ. หมวกดอกหนาและมีขนาดใหญ่ แต่ผลผลิตต่ำกว่าชนิดแรก



การใช้ประโยชน์จากเห็ดนางรม

        เห็ดนางรมนำมาใช้เป็นอาหาร มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะโปรตีน คาร์โบไฮเดรท วิตามิน มีวิตามินบี 1 (vitamin B1) และบี 2 (vitamin B2) สูงกว่าเห็ดชนิดอื่นและธาตุอาหารหลายชนิด เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม ให้พลังงานค่อนข้างสูง และยังมีกรดโฟลิคสูงกว่าพืชผักและเนื้อสัตว์ 

สรรพคุณของเห็ดนางรม
ช่วยป้องกันรักษาโรคโลหิตจางได้ จึงเหมาะสำหรับอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีปริมาณโซเดียมต่ำจึงใช้เป็นอาหารผู้ที่ ป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคไตอักเสบ  ป้องกันโรคโลหิตจาง โรคความดันโลหิตสูง บำบัดอาการปวดและชาตามร่างกาย แขนขา ช่วยขยายหลอดเลือดและอาการเอ็นยึด ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานดีขึ้น ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ปรับความดันโลหิตและความเข้มข้นของไขมันในเลือด





       9. เห็ดขอน
        เห็ดขอนขาวก็เป็นเห็ดป่าอีกชนิดหนึ่ง   ซึ่งได้รับการพัฒนานำมาเพาะเลี้ยงให้เป็นเห็ดเมืองได้สำเร็จ   นอกเหนือจากเห็ดตีนแรดและเห็ดลมหรือเห็ดกระด้างแล้ว   เนื่องจากเห็ดขอนขาวเป็นเห็ดซึ่งให้ผลผลิตสูงพอสมควร    เพาะเลี้ยงและดูแลง่ายราคาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีคือประมาณกิโลกรัมละ 40-50 บาท   แต่ว่าต้องผลิตให้ถูกช่วงไม่ไปซ้ำกับช่วงที่เห็ดป่าออก   ก็จะได้ราคาสูง   คุ้มค่าต่อการลงทุน เห็ดชนิดนี้เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่สำหรับภาคอื่น ๆ นั้น ต้องรอให้มีการส่งเสริมและแนะนำให้รู้จักเห็ดชนิดนี้มากขึ้น   ก็คงจะเป็นที่นิยมต่อไปในอนาคต
       เห็ดขอนขาวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า   Lentinus sp.   พบเกิดกับไม้เนื้ออ่อนที่ตายแล้ว   เช่น ต้นมะม่วง ตอมะพร้าวที่ตายแล้ว เป็นที่นิยมของตลาดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงตุลาคม   เห็ดชนิดนี้จะออกดอกมากมายและหาซื้อกันได้ในราคาที่ไม่สูงมากนักมักจะถูกเก็บมาขายรวมกับเห็ดป่าชนิดอื่น ๆ   แต่ในช่วงที่เห็ดป่ามีน้อยลง   ราคาของเห็ดขอนขาวจะสูงขึ้น 

สรรพคุณ เห็ดขอนขาว  บำรุงร่างกาย แก้ไข้พิษ และช่วยระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยลดไขมันในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและผู้ติดเชื้อ HIV ทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวต่อไป
       




       10. เห็ดกระดุม หรือ เห็ดแชมปิญอง หรือ เห็ดฝรั่ง เห็ดขาว
       
        ชื่อสามัญ : Champigon Mushroom  ชื่อวิทยาศาสตร์ : Agaricus bisporus(langes) Sing.
มีถิ่นกำเนิด  ในประเทศฝรั่งเศส
ลักษณะทางพฤกษศาตร์: เห็ดแชมปิญอง มีหมวกดอกสีขาว หรือสีครีมลักษณะคล้ายกระดุม ครีบดอกคล้ายซี่ร่ม เมื่อแรกบานครีบดอกมีสีขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีชมพู ครีบดอกเป็นแหล่งผลิตสปอร์ ก้านดอกสีขาว ลักษณะคล้ายทรงกระบอก มีวงแหวนล้อมรอบ ส่วนโคนของก้านดอก มีเส้นใยหนาแน่น
ฤดูกาล : มีขายตามท้องตลาดช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์
แหล่งปลูก : ภาคเหนือแถบจังหวัดเชียงใหม่
การกิน  : เห็ดแชมปิญองเนื้อหนานุ่ม นำมาปรุงอาหารได้หลายอย่าง เช่นเต้าหู้ราดซอสเห็ด ผัดยอดถั่วลันเตา กับเห็ด ซุบเห็ด สตูเห็ด และเห็ดอบเนย เป็นต้น
คุณค่าอาหาร : เห็ดกระดุม 100 กรัม ให้พลังงาน 16  กิโลแคลอรี ประกอบด้วย น้ำตาล 0.5 กรัม โปรตีน 1.5 กรัม ไขมัน 0.4  กรัม คาร์โบไฮเตรต 1.5 กรัม แคลเซียม 11 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 100 มิลลิกรัมโซเดียม 380  มิลลิกรัม
สรรพคุณทางยา: เห็ดแชมปิญอง มีสาร Lentinan ที่สามารถต่อต้าน เนื้องอกและมะเร็ง ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส ช่วยเสริมสร้าง ภูมิต้านทานโรค และลดไขมันในเส้นเลือด  เห็ดแชมปิญองช่วยรักษาและป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมมากที่สุด โดยสารบางอย่างในเห็ดไปช่วยยับยั้งเอนไซม์อะโรมาเตส (aromatase) ทำให้เกิดการยับยั้งการเปลี่ยนฮอร์โมนเอนโดรเจนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อยลง ก็ลดโอกาสการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมให้น้อยลงตามไปด้วย
       
       และยังช่วยลดความดันโลหิตสูง ช่วยให้แม่มีน้ำนมมากขึ้น และลดการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย



      
       11. เห็ดหลินจือ
       
       ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดี ทั้งเรื่องโรคกระเพาะ โรคแผลในลำไส้ ท้องผูก อาหารไม่ย่อย ริดสีดวง ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น ลดอาการโรคความดันโลหิตสูงและต่ำ โรคเบาหวาน ลดโคเลสเตอรอลในเลือด บรรเทาอาการไขข้ออักเสบ
       
       ในเห็ดหลินจือมีสารสำคัญคือ “เบต้ากลูแคน” ซึ่งมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง และยืดชีวิตผู้ป่วยเอดส์ รวมทั้งช่วยรักษาอาการโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคหัวใจด้วย
       
       


         12. เห็ดตับเต่า
       

         คนรุ่นเก่า ที่มีภูมิลำเนาอยู่ตามชนบท เชื่อได้ว่าส่วนใหญ่ จะรู้จักและเคยรับประทานเห็ดตับเต่าอย่างแน่นอน ซึ่งเห็ดตับเต่าชนิดนี้จะมีขายและมีให้ซื้อรับประทานเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น เมื่อเริ่มมีเม็ดฝนโปรยปรายลงมาเห็ดตับเต่าที่ทิ้งสปอร์ ไว้ใต้ดินที่มีความชื้นเย็นสูง เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง โดยเฉพาะบริเวณใต้ต้นหว้า จะแทงดอกชูชันเหนือดินให้คนที่มีอาชีพเก็บเห็ดเข้าไปเก็บนำไปขายในตลาดตัวเมือง ได้รับความนิยมซื้อไปรับประทานอย่างกว้างขวาง ราคากิโลกรัมเกือบร้อยบาทเลยทีเดียว


       เห็ดตับเต่า มีชื่อสามัญว่า Bolete  หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Thaeogyroporus porentosus (berk. ET. Broome)  อยู่ในวงศ์ Boletaceae ทางภาคเหนือจะเรียกกันว่า เห็ดห้า เพราะจะขึ้นบริเวณใต้ต้นหว้า ซึ่งชาวเหนือเรียกต้นหว้าว่า ต้นห้า ส่วนในภาคอีสานเรียกว่า เห็ดน้ำผึ้ง ค่ะ ถิ่นกำเนิดของเห็ดตับเต่าจะพบในแถบประเทศทีมีอากาศชื้น พบได้ในป่าทั่วไปตามภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้  หรือจะพบในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน

       เห็ดตับเต่าจะขึ้นเองตามธรรมชาติจึงนับได้ว่าเป็นเห็ดที่ปลอดสารพิษ (แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการเพาะเห็ดตับเต่าขายแล้ว) หน้าตาของเห็ดชนิดนี้จะมีสีออกน้ำตาล น้ำตาลเข้ม ไปจนถึงสีดำ


       คุณค่าทางอาหาร    เมื่อรับประทานเห็ดตับเต่า 100 กรัม  จะให้พลังงาน 29 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย  น้ำ 92.4 กรัม  โปรตีน 2.5 กรัม ไขมัน 0.1 กรัม  คาร์โบไฮเดรต 4.5 กรัม  แคลเซียม 13 มิลลิกรัม  ฟอสฟอรัส 37 มิลลิกรัม  ไทอะมีน 0.06 มิลลิกรัม  ไนอะซิน 2.0 มิลลิกรัม  และวิตามินซี 16 มิลลิกรัม
       

       ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ หมวกเห็ดเป็นรูปกระทะคว่ำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 12-30 ซม. ดอกอ่อนมีขนละเอียดคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาลเมื่อบานเต็มที่กลางหมวกเว้าเล็กน้อย ผิวสีน้ำตาลเข้มอมเหลืองอ่อนปริแตกเป็นแห่งๆ ด้านล่างของหมวกมีรูกลมเล็กๆ สีเหลืองปากรูเชื่อมติดเป็นเนื้อเดียวกันเมื่อบานเต็มที่เนื้อจะเปลี่ยนเป้นสีเหลืองอมเขียวหม่นและเขียวหม่นอมน้ำตาล ก้านอวบใหญ่สีน้ำตาลอมเหลือง โคนก้านโป่งเป็นกระเปาะบางส่วนนูนและเว้าเป็นร่องลึกเมื่อตัดหรือหั่นถูกอากาศ เนื้อเห็ดตับเต่าจะสีน้ำเงินอมเขียว
       สรรพคุณของเห็ดตับเต่า บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดี ดับพิษร้อน บรรเทาอาการปวดชาตามแขนขา ตามกระดูกและเส้นเอ็น ลดอาการระดูขาว หยุดการเติบโตและต่อต้านเนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็ง



ขอบคุณมากมายที่สนใจอ่าน เรื่อง อาหารเป็นยา"เห็ดต้านโรคร้าย" ค่ะ เริ่มต้นด้วย การชอบทานเห็ด แล้วก็อยากทราบเรื่องเห็ด ทำให้ทราบว่าเห็ดของไทย เช่น เห็ดขอน เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า หาข้อมูลยากมาก แต่ก็เสร็จจนได้ค่ะ ขอบคุณข้อมูลจาก ManagerOnline , Sanook.com, Wikipedia,monmai.com  
ข้อมูลของเห็ดหลินจือ คิดว่ามีมากแล้วก็ได้ลิงก์ไปที่บล็อกที่เขียนไว้ค่ะ หรือถ้าสนใจก็สามารถหาที่ป้ายกำกับ ได้นะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น