2/9/56

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับยาสีฟัน

ยาสีฟัน 

คือ  ผลิตภัณฑ์ สำหรับ ทำความสะอาดฟัน โดยใช้ร่วมกับแปรงสีฟัน  ส่วนใหญ่เป็นครีมเหลวหรือเจลที่บรรจุในหลอด และใช้วิธีการบีบออกมาจากหลอดใส่แปรงสีฟัน เพื่อนำไปแปรงฟัน


เมื่อช่องปากไม่สะอาดมีคราบจุลินทรีย์มาเกาะบนตัวฟัน (หรือที่เรียกว่า ขี้ฟัน) เชื้อจุลินทรีย์จะอาศัยเศษอาหารที่ตกค้างเหล่านี้ โดยเฉพาะแป้งและน้ำตาลย่อยสลายเป็นกรด น้ำตาลจึงมีสภาวะเป็นกรดกัดเนื้อฟันของเรา นี่คือสาเหตุของฟันผุ การแปรงฟันจะช่วยลดความเสี่ยงได้ยาสีฟันที่ใช้นั้นมีส่วนช่วยให้รู้สึกปากสะอาด

ในสมัยโบราณ ยาสีฟันจะผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ เกลือป่น  พริกไทยป่น ใบมินต์ หรือดอกไม้ต่างๆ จนช่วงศตวรรษที่ 19 จากที่เดิมคนส่วนใหญ่แปรงฟันด้วยน้ำเปล่า กระแสความนิยมของยาสีฟันประเภทผงก็เพิ่มขึ้น แต่ยังคงเป็นยาสีฟันทำเอง โดยมากทำจากผงชอล์ก ผงอิฐ และเกลือ จวบจน ค.ศ.1866 สารานุกรมความรู้แนะนำให้ใช้ผงถ่านแทน ต่อมาในปี 1900 เริ่มมีการผลิตยาสีฟันแบบเหลวที่มีส่วนผสมของไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ และเบ๊กกิงโซดา สำหรับส่วนผสมประเภทฟลูออไรด์เติมลงไปในยาสีฟันครั้งแรกในปี 1914 อย่างไรก็ตาม ช่วงศตวรรษที่ 19 นี้ ยาสีฟันแบบเหลวได้รับความนิยมน้อยกว่ายาสีฟันแบบผง 

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ประเทศไทย อธิบายส่วนประกอบก่อนจะเป็นยาสีฟัน ดังนี้ ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันที่จำหน่ายในท้องตลาดมี 3 ชนิด คือ 

  • ชนิดครีมขาว 
  • ชนิดผง 
  • ชนิดเจล 

    ยาสีฟันแบบครีมขาว

ส่วนประกอบของชนิดครีมขาว มี 

1.สารขัดฟัน เป็นสารที่มีลักษณะหยาบพอควรที่จะสามารถขจัดสารติดเปื้อน เศษอาหาร คราบจุลินทรีย์บนฟัน ให้หลุดออก แต่ต้องไม่หยาบจนก่อให้เกิดการสึกกร่อนของเคลือบฟัน ได้แก่ ไดแคลเซียมฟอสเฟตและแคลเซียมไพโรฟอสเฟต

2.สารช่วยให้เกิดฟอง นิยมใช้สารสังเคราะห์โซเดียม ลอริลซาโคซิเนต ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับสารขัดฟันจะช่วยขจัดสารติดเปื้อน เศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ให้หลุดจากฟันได้ง่าย

3.สารยึดเกาะ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ยึดเป็นทรง เมื่อบีบออกจากหลอด คงตัวอยู่บนแปรงสีฟัน นิยมใช้ คาร์บอก-ซิเมททิล เซลลูโลส 

4.สารปรุงรสและกลิ่น ช่วยทำให้ผู้แปรงฟันรู้สึกสดชื่น กลิ่นปากหอมสะอาด สารปรุงรสนิยมใช้ขัณฑสกร และซอร์บิตอล ส่วนสารปรุงกลิ่นมักใช้น้ำมันเปปเปอร์มินต์ หรือน้ำมันสเปียร์มินต์ ขณะที่ยาสีฟันสำหรับเด็กนิยมปรุงกลิ่นด้วยกลิ่นผลไม้ 

5.สารคงความชื้น ช่วยให้คงความอ่อนนุ่ม ป้องกันการแห้งแข็งของยาสีฟัน นิยมใช้ซอร์บิตอล ทำหน้าที่ทั้งเป็นสารคงความชื้นและให้รสหวาน

6.สารกันเสีย นิยมใช้โซเดียมเบนโซเอต ป้องกันการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์บูดเน่า 


7.สารแต่งสี เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะดึงดูดใจผู้ใช้

8.เกลือของสารฟลูโอไรด์ 

9.สารฆ่าเชื้อและสารลดกรด สารลดความเป็นกรดที่นิยมใช้คือ แมกนีเซียมออกไซด์ และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ โดยพบว่าคราบจุลินทรีย์ทนทานต่อสภาวะภายนอก เช่นความเป็นกรดด่างในช่องปากได้ดี แต่คาดว่าการผสมสารลดกรดลงไปจะป้องกันฟันผุได้

ยาสีฟันชนิดผง


ยาสีฟัน ชนิดผง ประกอบด้วยสารขัดฟันและสารปรุงรสและกลิ่น 

ยาสีฟันชนิดเจล


ยาสีฟันชนิดเจลมีองค์ประกอบคือ สารก่อเจล ซึ่งเป็นพวกพอลิเมอร์ สารปรุงรสและกลิ่น สารคงความชื้น สารกันเสีย สารแต่งสี กับสารป้องกันฟันผุ ได้แก่ เกลือของสารฟลูโอไรด์ 

ประเภทของยาสีฟัน

ยาสีฟันที่วางจำหน่ายในท้องตลาดแบ่่งออกได้ 2 ประเภทคือ


  • ยาสีฟันที่ไม่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ จัดเป็นเครื่องสำอางทั่วไป ที่ฉลากภาษาไทยจะต้องระบุข้อมูลที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ได้แก่ ชื่อเครื่องสำอาง ประเภทหรือชนิด ส่วนประกอบสำคัญ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปี ที่ผลิต วิธีใช้ ปริมาณสุทธิ



  • ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์  จัดเป็นเครื่องสำอางค์ควบคุมพิเศษ จะต้องระบุคล้ายกับเครื่องสำอางค์ทั่วไป แต่่มีลักษณะพิเศษเพิ่มเติม คือ จะมีข้อความว่า "เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ" ใกล้กับเลขทะเบียนที่แสดงไว้ในกรอบเครื่องหมาย อย. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น